วันศุกร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2551

การจัดการความรู้ คือ อะไร

" ความรู้มีอยู่อย่างกระจัดกระจายไปทั่วแผ่นดิน ทุกแห่งทุกหนก็ว่าได้ นับวันความรู้ที่พูดถึงนี้ก็จะเลือนหาย สูญสิ้นไปเหมือนกับเจ้าของความรู้นั้นตามกาลเวลาที่ใครก็หยุดไม่ได้ "

จะทำอย่างไรหนอ ??? ที่จะเก็บความรู้นั้นไว้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือเพื่อการเผยแพร่ไปสู่คนรุ่นหลังที่จะได้รับรู้ว่าบรรพบุรุษของตนมีคุณงามความดีอะไร

คนไทยโดยส่วนใหญ่และทั่วไปมีภูมิปัญญาดั้งเดิมมากมายที่น่าเก็บไว้ด้วยการบันทึก และเผยแพร่ความรู้นี้ไปยังผู้ที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน รวมทั้งอนุชนรุ่นหลังที่เกิดมากับความเจริญทางวัตถุและเทคโนโลยี ซึ่งอาจจะลืมเลือนความรู้จากธรรมชาติที่กำลังจะจางหายไปกับกาลเวลา

ผู้เขียนเป็นครู อาชีพของการเป็นครูย่อมต้องพัฒนาด้วยเรียนรู้เสริมให้ตนเองอยู่เสมอ ความรู้ที่นับได้ว่าเป็นขุมทรัพย์ก็ได้จากการอ่าน การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง และทางอ้อม

ผู้เขียนได้เรียนรู้จากท่านศึกษานิเทศก์ เฉลิมชัย ถึงดี ศึกษานิเทศก์รูปหล่อและอัธยาสัยดี แห่งเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์เขต 3 เกี่ยวกับ การจัดการความรู้ในโรงเรียน School Knowledge Management วิธีการคือ ที่โรงเรียนจัดอบรม แล้วกำหนด หัวปลาทู ก้างปลา แล้วก็มี คุณอำนวย คุณกิจ คุณลิขิต 1 คุณลิขิต 2 ( สมมุติบทบาทของสมาชิกในกลุ่ม ) วิธีการเขียน คือ การเล่าประสบการณ์ในการสอนของแต่ละคนที่ประสบกับความสำเร็จจนเป็นที่น่าพอใจ แล้วเขียนบันทึกไว้ แต่เวลาจำกัด ผู้เข้าอบรมจำนวนมาก จึงดูเหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ตั้งความคาดหวังไว้

วันถัดมาอีก ผู้เขียนจึงขอร่วมฝึกทำ best practice อย่างจริงจังกับโรงเรียนบ้านบักดอก โดยความกรุณาของท่าน ผอ.สุธรรม สุบรรณาจ และท่าน ศน.เฉลิมชัย ถึงดี อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นผู้เขียนเริ่มเข้าใจและรู้ว่าการเขียน Best practice ก็ เหมือนกับการเขียนรายงานให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงวิธีการสอน เทคนิคและกิจกรรมต่างๆ และมีจุดมุ่งหวังที่จะเก็บความรู้นี้ไว้เป็นหลักฐานด้วย

การจัดการความรู้อันน้อยนิดของผู้เขียนได้เริ่มแพร่ขยายเป็นบันทึกลงใน blog บ้าง เล่าสู่กันฟัง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูบ้าง และมีแนวความคิดจากการที่เคยไปเป็นครูเอเอฟเอส แลกเปลี่ยนที่อเมริกา 1 ปี จึงคิดว่าจะนำเรื่องราว ประสบการณ์ต่าง ๆ มาเขียนลงใน blog หากมีเวลา ซึ่งผู้เขียนได้ทำหน้าที่ครูอย่างมีความสุขและฝึกเด็กไทยให้หัดเรียนรู้ภาษาอังกฤษ

เนื่องจากผู้เขียนมีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์เล็กน้อย มีความรู้สึกว่าคอมพิวเตอร์มีประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาอย่างมหาศาล จึงได้เข้ารับอบรมการจัดทำ web blog และได้รับความกรุณา จากท่าน ศน เฉลิมชัย ถึงดี เป็นพี่เลี้ยงที่ดีตลอดมา ทำให้ผู้เขียนเริ่มเข้าใจเรื่องของการสร้างเว็บเพจ blog และเว็บไซต์ในเวลาต่อมา ซึ่งผู้เขียนได้นำมาสอนนักเรียนให้ฝึกสร้าง web blog ของตนเอง และเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่าน web blog ของผู้เขียน และของเพื่อนนักเรียนในห้องด้วย ทำให้นักเรียนตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้น

การจัดการความรู้ที่นำมาสู่ครูผู้สอนตามความสามารถและความใฝ่รู้ใฝ่เรียน ประกอบการพัฒนาตนเองเป็นเรื่องที่ผู้เขียนตระหนักและพยายามอยู่เสมอที่จะกระตุ้นให้ตนเองมีการพัฒนาทั้งในเรื่องการจัดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน ด้วยวิธีการต่างๆนานา เช่น การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ การจัดทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ การฝึกปฏิบัตินักเรียนให้มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษตามโครงการประจำปีการศึกษาของโรงเรียน

การจัดการความรู้ก่อเกิดมานานแสนนานแล้ว แต่การจัดเก็บความรู้เหล่านั้นยังไม่เป็นระบบ และสืบค้นไม่ได้ดีเท่าที่ควร เพราะเหตุเนื่องมาจากเทคโนโลยีก้าวล้ำนำยุคอยู่เสมอ จึงทำให้การจัดการความรู้มีเสียงเหมือนจะต้องมีความรู้เรื่อง ไอที (Information Technology) จึงจะจัดการได้ แต่เป็นการเข้าใจผิดเสียแล้ว การจัดการความรู้สอดแทรกอยู่ในตัวคนทุกคนตั้งแต่เกิดจนกระทั่งดับชีวิต คน หรือ มนุษย์มีการจัดการความรู้ โดยสังเกตจากการใช้ชีวิตในสังคม การอยู่รอด การดำรงชีพ การเรียนรู้ที่จะทำให้ตนเองมีความสุขตามอัตภาพ สิ่งเหล่านี้ที่กล่าวมาเป็นการจัดการความรู้ทั้งสิ้น

แต่เนื่องจากเทคโนโลยีและความก้าวหน้า เราจึงต้องพึ่งพาความรู้ความสามารถและความถนัดตลอดจนความสนใจที่จะเรียนรู้ โดยการนำอิเล็กทรอนิกส์เครื่องมือสื่อสารมาประกอบการจัดการความรู้ เท่านั้นเองที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ดังนั้นผู้คนที่มีความสามารถในการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์จึงได้เปรียบกับการจัดการความรู้ได้รวดเร็ว แพร่ขยายได้รวดเร็วตามใจคิดและปรารถนา ผู้เขียนจึงมีความสุขกับการที่รู้ว่าครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ(ภาษาอังกฤษ) ทุกคนมีความตระหนักดีในการจัดการความรู้ เห็นประโยชน์และมีความพยายามที่จะจัดเก็บและนำความรู้มาแลกเปลี่ยนกันตลอดเวลาที่มีอยู่

เมื่อผู้เขียนให้นักเรียนทำงานส่ง อ่านเสร็จแล้วให้สรุปความรู้ที่ได้เป็น 3 ข้อ คือ ข้อหนึ่งได้ความรู้เรื่องอะไร ข้อสอง มีความประทับใจในเรื่องอะไร และข้อสาม นักเรียนมีข้อเสนอแนะอะไรให้ผู้เขียนบ้าง นักเรียนมีความสามารถค้นคว้าหาข้อมูล ซึ่งบางคนได้พริ้นท์งานในเว็บไซต์ของครูมาส่ง ผู้เขียนได้บอกให้ไปเขียนสรุปเป็น สามข้ออีกครั้ง แต่การจัดการความรู้ให้แก่นักเรียนโดยวิธีการใช้อินเตอร์เนตและเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น มักจะมีข้อจำกัด เพราะนักเรียนทุกคนไม่ได้มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้าน ซึ่งจะทำให้ผู้ปกครองเดือดร้อนในการนำพานักเรียนไปที่ร้านอินเตอร์เนต เพื่อที่จะทำงานมาส่งครูของเขา

แต่เมื่อพบกับปัญหาและข้อจำกัด ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่คิดทำอะไรเลย ผู้เขียนได้พยายามทุกหนทางที่จะเก็บเล็กผสมน้อยในเรื่องของความรู้ ถึงแม้ว่าจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ตาม แต่ก็คิดว่าดีกว่าที่จะไม่ทำหรือไม่ขยับทำอะไรเลย นักเรียนหลายๆคนทีศักยภาพแบบเหลือเชื่อ นักเรียนมีความสามารถทางการใช้เครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ มีความสามารถติดต่อสื่อสารกับครูได้โดยการใช้อีเมลล์ หากครูผ้สอนหรือผู้เขียนไม่คิดที่จะดำเนินการในเรื่องการเรียนผ่าน blog จะไม่ได้ล่วงรู้ว่าขีดของศักยภาพของนักเรียนนั้นมีมากแค่ไหน ผู้เขียนไม่ขีดจำกัดความสามารถของเขาเพียงแค่นำข้อจำกัดมาอ้าง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเหนื่อยยากในการจัดทำงาน เมื่อนักเรียนเหล่านี้เติบโตขึ้นไปเรียนใน ชั้นอุดมศึกษา พวกเขาจะได้วิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง จัดการความรู้ของตนเองอย่างมีศักยภาพและมีความหมาย ผลผลิตที่ผู้เขียนคาดหวังจะได้เป็นจริงอย่างที่ครูทุกคนใฝ่ฝันไว้

ไม่มีความคิดเห็น: